-@@- ยุคที่มวยสากลสมัครเล่นไทยเฟื่องฟู ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 1996 ที่แอตแลนตา ซึ่ง สมรักษ์ คำสิงห์ สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองได้เป็นคนแรกของนักกีฬาไทยนั้น มีนักมวยไทยรายหนึ่งที่ถือเป็น  “ความหวังใหม่” ร่วมทีมกำปั้นไทยในเวลานั้นด้วย หนุ่มรายนั้น คือ ภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค

 

45

 

ด้วยรูปร่างที่สมาร์ท หน้าตาอยู่ในเกณฑ์ “ดี” แถมมีบุคลิกสุภาพ พูดน้อย ยิ้มเก่ง จึงทำให้ “เจ้าเอ็ม”  ถือเป็นขวัญใจสาวๆ เลยทีเดียว

ก่อนมาชกมวยสากลสมัครเล่น “เอ็ม” หรือ เอ็ม 16 บ.ข.ส. เป็นนักมวยไทยค่าตัวเรือนแสน ที่ไต่เต้ามาจากมวยเด็ก ขึ้นเวทีตั้งแต่อายุ 9 ขวบ หลังจากฝึกหัดมวยได้เพียงไม่ถึงปีจากการสอนของผู้เป็นพ่อ ยุทธภูมิ แจ้งโพธิ์นาค อดีตนักมวยเก่าที่มีค่ายมวยเล็กๆ

 

 

“บ้านผมอยู่สมุทรปราการแถวเวทีมวยสำโรง พ่อก็ทำค่ายมวยเล็กๆ ที่แตกมาจากค่าย บ.ข.ส.ซึ่งเป็นค่ายดังที่สร้าง เวนิส บ.ข.ส.เป็นแชมป์โลกมาแล้ว พ่อไม่ได้อยากให้ผมเป็นนักมวยหรอก แต่อยากให้ผมฝึกมวยไว้ป้องกันตัวมากกว่า ฝึกได้ไม่ถึงปีก็ลองขึ้นเวทีชกดู ปรากฏว่าชนะ เลยติดใจมีครั้งที่สองสามสี่ ชกได้ตังค์ใครๆ ก็อยากชก ได้ครั้งละ 100 บาท แถมมีเงินอัดฉีดอีก500 บาท ชกไปเรื่อยๆ สนุกดี แต่พอโตหน่อย เริ่มมีปัญหา เพราะไม่ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ตื่นเช้าซ้อม เย็นเลิกเรียนก็ต้องรีบกลับมาซ้อม เหนื่อยมาก เลยเริ่มงอแง ไม่อยากชกอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ทำไงได้ในที่สุดก็ต้องชก เพราะเป็นลูกหัวหน้าค่าย ต้องทำตัวอย่างที่ดีให้คนอื่นเห็น”

 

 

 

ด้วยฝีมือที่จัดจ้าน ทำให้ค่าตัว “เอ็ม” จากหลักร้อยไต่ขึ้นไปถึงหลักหมื่น หลักแสน จนถึงอายุ 18 ปี ที่ร่างกายโตเต็มที่ ทำให้รูปร่างใหญ่ และเริ่มหาคู่ชกยาก เพราะสมัยนั้น มวยรุ่นใหญ่คนไม่นิยมดูกัน ทำให้ต้องลดน้ำหนักครั้งละ 7-8 กก.เพื่อลงมาต่อยรุ่นเล็กกว่า

“ผมจำได้ว่า หลังจากแพ้ในการชกมวยรอบอีซูซุ ผมก็เลิกชกเลย เพราะมันไม่ไหวแล้ว ลดน้ำหนักมากเกินไป พอเลิกชกมวยไทยก็หันไปชกมวยสากลสมัครเล่นเลย”

 

 

 

“เอ็ม” ได้รับการชักชวนจาก นายวรวุฒิ โรจนพานิช คีย์แมนสมาคมมวยสากลสมัครเล่นฯในเวลานั้นให้มาชกมวยสากล และหลังจากฝึกเชิงชกแบบสากลได้เพียงแค่ 3 เดือน เอ็มก็สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการผ่านการคัดเลือกไปชกโอลิมปิกเกมส์ 1996 ที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ด้วยการเอาชนะนักชกอิหร่านที่เป็นตัวเต็งจ๋า

“เชิงมวยสากลผมยังไม่ดีเท่าไหร่หรอก แต่เป็นมวยใหม่ อาศัยความอึดจากการชกมวยไทยเดินไล่บี้ ทำให้นักชกอิหร่านยุบหมดแรง”

 

 

 

โอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกของเอ็มไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไปเจอมวยแกร่งจากยูเครน ทำให้ตกรอบแรกไป และหลังจากนั้น ได้เพิ่มพูนประสบการณ์กระดูกมวยสากลเรื่อยๆ จนทำให้เอ็มกลายเป็นนักชกตัวหลักของทีมกำปั้นไทยทุกชุด และคว้าเหรียญทองในการชกรายการต่างๆ มาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็น เหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์  ปี 2541 เหรียญทองชิงแชมป์เอเชีย ปี 2542 เป็นต้น และเคยขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในรุ่น 67 กก.ด้วย

 

6

 

แต่กับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ในอีก 4 ปีถัดมาที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย เอ็มกลับไม่ประสบความสำเร็จ ตกแค่รอบ 16 คนสุดท้าย ทั้งๆ ตามสายการแข่งขันมีโอกาสถึงเหรียญทองแดง ซึ่งการพลาดหวังใน “ซิดนีย์เกมส์” หนนี้ ทำให้เอ็มตัดสินใจเลิกชกมวยเมื่อตอนอายุ 25 ปี

“ผมไม่อยากเสียเวลาอีก 4 ปี อยากมาเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ในชีวิต ก็เลยมีเวลาได้เรียนอย่างจริงจังจนจบปริญญาตรีที่วิทยาลัยทองสุข คณะนิเทศศาสตร์”

 

 

 

แต่หลังจากเรียนจบ เอ็มก็กลับมาวนเวียนอยู่ในวงจรของนักต่อสู้ คราวนี้ลองหันไปเล่นเทควันโด ได้มีโอกาสฝึกกับโค้ชชาวเกาหลี แต่ก็ไปไม่ถึงไหน เพราะพื้นฐานกีฬา “มวยไทย” แตกต่างจาก “เทควันโด” อย่างสิ้นเชิง

“การเตะแบบมวยไทยกับเทควันโดมันคนละเรื่องกันเลย มวยไทยจะช้ากว่า ผมไปแข่งเทควันโด ผมก็ติดแบบเตะมวยไทย บางทีง้างก็โดนสวนมาแล้ว เล่นได้ไม่ถึงปีก็เลิก คือแค่อยากลองแค่นั้น พอรู้แล้วก็เลิก แต่ก็แนะนำพวกโค้ชมวยไทยนะให้เอาการเตะของเทควันโดมาประยุกต์ใช้กับมวยไทย แต่ไม่มีใครยอมรับ”

 

 

 

เลิกเล่นเทควันโดได้ไม่นาน เอ็มถูกชวนกลับไปชกมวยสากลอีก ก็เลยไปชกอยู่พักหนึ่งก่อนเลิกชกในเวลาต่อมาไม่นาน เพราะถูกดันให้ไปชกรุ่นใหญ่ 75 กก. ซึ่งเอ็มบอกไม่ถนัดและที่สำคัญกลัวเกิดอาการ  “เมาหมัด”

เลิกจากมวยสากลสมัครเล่น เอ็มอยากลองชกมวยอาชีพ 12 ยกดูบ้าง ก็เลยไปชกได้ประมาณ 8-9 ไฟต์ และได้เป็นถึงแชมป์องค์กรพาบา ก่อนจะเลิกชกในเวลาอันรวดเร็ว

 

 

 

 

“ผมอยากลองดู อยากหาเงินเรียนปริญญาโทด้วย พอลองรู้แล้ว และเรียนจบพอดีเลิกชกเลย กลัวเมาหมัด คราวนี้เลิกชกจริงๆ แล้ว”

ระหว่างกลับมาชกมวย เอ็มก็เปิดร้านขายสุนัขอยู่พักหนึ่ง แต่พอเลิกชกพร้อมๆ กับเรียนจบปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ไม่นาน เอ็มก็ถูกชักชวนให้ไปเป็นอาจารย์ที่สถาบันการพลศึกษาจังหวัดอุดรธานี เมื่อปี 2551 ก่อนจะลาออกมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีในปีถัดมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

“ผมสอนด้านวิชาการอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ แต่ก็ต้องมารับหน้าที่เป็นโค้ชมวยของมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากเลยนะ อยากทำผลงานด้านวิชาการมากกว่า แต่ตอนถูกสัมภาษณ์ก่อนเข้ามาเป็นอาจารย์ ผมปากดีไปรับปากอธิการบดีว่าจะทำทีมมวยให้มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จให้ได้ ก็เลยต้องทำมาจนถึงทุกวันนี้”

ปัจจุบัน  “อาจารย์เอ็ม”  มีตำแหน่งเป็นรองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ เพิ่งแต่งงานกับแฟนสาว “เพลินพิศ”  อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา

 

 

 

ในวัย 38 ของยอดนักชกรายนี้ ยังไม่มีร่องรอยจากผลกระทบของการขึ้นเวทีมาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เพราะเอ็มบอกว่า ตัวเองชกมวยแบบไม่บอบช้ำและเลิกชกเร็ว ที่สำคัญเป็นคนดูแลรักษาสุขภาพ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เหมือนนักมวยหลายๆ คน

 

 

“ผมอยากฝากถึงนักมวยทุกคนให้ดูแลตัวเองดีๆ เพื่อที่แก่ตัวจะได้ไม่เป็นโรคเมาหมัดครับ”

นี่คือ นักมวย “มหาบัณฑิต” ที่หาได้ยากในสังคมกำปั้นเมืองไทย.

 

@ ขอขอบคุณ ข่าว-ภาพ จาก  : www.sportclassic.in.th

 

เชิญแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ

comments