-@@-  โค้งสุดท้ายเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่เกาหลีใต้ “อินชอนเกมส์” นักกีฬาไทยกำลังเร่งกวาดเหรียญทอง เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ หากไม่ถึงก็ควรจะได้อย่างน้อย 10 เหรียญทอง
 
                             มวยสากลสมัครเล่นคือกีฬาความหวังของคนไทยในมหกรรมกีฬาทุกรายการ และสร้างผลงานให้วงการกีฬาไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การคว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์ 1976 ที่มอนทรีออล แคนาดา จาก พเยาว์ พูลธรัตน์ เป็นเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ จนมาประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยการคว้าเหรียญทองแรกได้จาก สมรักษ์ คำสิงห์ ในโอลิมปิกเกมส์ แอตแลนตา 1996
 
2
                           
 จากนั้น มวยสากลสมัครเล่นสร้างความสุขให้คนไทยมาโดยตลอด ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ก็มีเหรียญทองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพมหานคร นักชกไทยกวาดได้ถึง 5 เหรียญทอง นักชกไทยถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าบนเวทีมวยเสื้อกล้ามระดับนานาชาติ
 
                             กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังจากโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง สมจิตร จงจอหอ คว้าเหรียญทองมาครอง แต่ “เสธ.วีป” พล.อ.ทวีป จันทรโรจน์ นายกสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย มีปัญหาขั้นแตกหักกับสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ (ไอบา) และ ชิง กัวะ วู ประธานไอบา ชาวไต้หวัน จนต้องแยกทางกัน และภายในประเทศมีการแย่งชิงเก้าอี้นายกสมาคม ก่อนถูกเปลี่ยนมือจาก “เสธ.วีป” ไปให้คนอื่นเข้ามาบริหารต่อ นั่นดูเหมือนจะทำให้วงการกำปั้นไทยเริ่มเห็นเค้าลางถึงความตกต่ำ
 
                             ในเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 16 “กวางโจวเกมส์” นักชกไทยเกือบจะไม่ได้ไปแข่งขัน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเลือกตั้งนายกสมาคม ก่อนจะเคลียร์กันลงตัว วรพจน์ เพชรขุ้ม คว้าเหรียญทองหนึ่งเดียวมาครอง แต่หลังจากนั้น สายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไอบาเหมือนจะหมางเมิน กีฬาที่ไม่ได้ต่อสู้กันแค่บนผืนผ้าใบเท่านั้น ทำให้นักชกไทยต้องเจอศึกหลายด้าน และเห็นผลชัดเจนในโอลิมปิกเกมส์ 2012 แก้ว พงษ์ประยูร ได้เหรียญเงินแบบค้านสายตา พลาดเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ ครั้งแรกในรอบ 16 ปี
 
                             สมาคมมวยสากลสมัครเล่นได้ นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นนายกสมาคมคนใหม่ ส่งนักชก 9 รุ่นทำศึก ”อินชอนเกมส์” เป็นมวยชาย 7 รุ่น ได้แก่ ไลท์ฟลายเวท (49 กก.) ธเนศ องค์จันทร์ต๊ะ, ฟลายเวท (52 กก.) ฉัตร์ชัย บุตรดี, แบนตั้มเวท (56 กก.) ดอนชัย ทาธิ, ไลท์เวท (60 กก.) สายลม อาดี, ไลท์เวลเตอร์เวท (64 กก.) วุฒิชัย มาสุข, เวลเตอร์เวท (69 กก.) อภิเชษฐ์ แสนสิทธิ์, ไลท์เฮฟวีเวท (81 กก.) อนวัช ถองกระโทก และมวยหญิง 2 รุ่น ได้แก่ ฟลายเวท (51 กก.) โสภิดา สะทุมรัมย์, ไลท์เวท (60 กก.) ทัศมาลี ทองจันทร์ และตั้งเป้าถึง 2 เหรียญทอง
 
                             นักชกชุดนี้ ถือเป็นทีมกำปั้นคุณภาพ ที่มีโอกาสฝันถึงเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ได้ แต่เมื่อถึงเวลาจริง กำปั้นไทยในการชกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการถอดเฮดการ์ด และนับคะแนนแบบใหม่ กลับต้องร่วงตกรอบระนาวแบบไม่มีลุ้น แถมยังมีกระแสการ “ถูกโกง” เรื่องยอดฮิตของมวยสากล มาเป็นประเด็นใหญ่ โดยเฉพาะในการชกของ โสภิดา สะทุมรัมย์ ที่แพ้คะแนนนักชกจีนในรุ่น 51 กก.หญิง ทีมไทยยื่นประท้วงทันที แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
8c6jaebe659dcgdj7deeg
 
                             เหตุการณ์ครั้งนี้ สร้างความสับสนให้ใครหลายต่อหลายคนว่า กรรมการให้คะแนน 3 คน ถ้าให้เสมอกัน 2 คน คือ เสมอกัน ไม่ว่าอีกคนจะให้ใครแพ้-ชนะ ก็ตาม การประท้วงสามารถทำได้หรือไม่ ดูเหมือนจะเป็นของใหม่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน
 
                             สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เราไม่ทันเกม ไม่ทันกฎกติกา เหมือนเป็นเด็กหัดชกใหม่ อีกประการหนึ่ง คือ สไตล์การชกของนักชกไทย ไม่มีอะไรที่จะไปเอาชนะคู่แข่งได้ รูปมวย ทรงมวย ชกอย่างไรก็แพ้ แล้วก็จบลงตรงคำที่ว่า “ถูกโกง”
 
                             กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ไทยพลาดเหรียญทองมวยสากลไปแล้ว เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี แต่สำหรับในเอเชี่ยนเกมส์นั้นเราได้เหรียญทองมาตลอด นับจากครั้งที่ 11 ที่ปักกิ่ง ปี 1990 ต่อเนื่องมาจนถึงครั้งที่ 16 ที่กวางโจว เราคงไม่อยากพลาดเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ เป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี
 
                             บนสังเวียนกำปั้นสากล นักชกต้องฟิตซ้อม ฝึกทักษะสไตล์การชก ติดตามกฎกติกาอย่างละเอียด ทีมสตาฟฟ์ต้องทำการบ้าน ศึกษาเรียนรู้นักชกคู่แข่งขัน ผู้บริหารต้องสานสัมพันธ์กับสหพันธ์ องค์กรที่เกี่ยวข้อง สร้างมิตรภาพและบารมีในแบบที่มีเงินอย่างเดียวนั้นไม่สามารถหาซื้อได้
 
                             มิเช่นนั้น นักชกไทยจะกลายเป็น “คนแปลกหน้า” บนเวทีผ้าใบ เป็นเด็กน้อยในวงการกำปั้น เมื่อพ่ายแพ้กลับมาก็ไม่เคยสงสัยว่า นี่เราถูกโกง หรือโกงตัวเองอยู่กันแน่
@ ขอขอบคุณ ข่าว-ภาพ จาก  www.komchadluek.net

เชิญแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ

comments